คอลลาเจน ตัวช่วยเสริมสร้างสุขภาพผิว

เมนูอาหาร

หลายคนอาจรู้จักคอลลาเจน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้ว่า คอลลาเจนนั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพผิวพรรณ

โดยอาจช่วยเสริมสร้างความแข็งแรง ความยืดหยุ่น และความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนัง ทว่าอายุที่มากขึ้นมาพร้อมกับร่างกายที่เสื่อมสภาพ การผลิตคอลลาเจนจึงลดน้อยตามไปด้วย ส่งผลให้ปัญหาผิวเกิดขึ้นได้ง่าย อย่างผิวหนังแห้งเสีย หย่อนคล้อย หรือริ้วรอยบนใบหน้า

ที่จริงแล้ว คอลลาเจนเป็นเส้นใยโปรตีนชนิดหนี่งที่ประกอบด้วยกรดอะมิโนหลากชนิด ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของผิวหนัง ขน เส้นผม กระดูก กล้ามเนื้อ เส้นเลือด และอวัยวะต่าง ๆของร่างกาย เปรียบเสมือนกับกาวที่ช่วยยึดโยงโครงสร้างเหล่านี้เข้าด้วยกัน เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติ ร่างกายคนเรานั้นสามารถสร้างคอลลาเจนได้เอง และรับมาจากอาหารบางประเภทหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมคอลลาเจนที่จำหน่ายในท้องตลาดด้วย

เมนูอาหาร

คอลลาเจน ตัวช่วยเสริมสร้างสุขภาพผิว โดยคอลลาเจนจะมีอยู่หลายชนิด แต่ชนิดที่พูดถึงกันบ่อย ๆ ได้แก่

  • คอลลาเจนชนิดที่ 1 เป็นเส้นใยที่อัดแน่น พบมากประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของร่างกาย โดยเฉพาะในผิวหนัง กระดูก เส้นเอ็น กระดูกอ่อน และเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน
  • คอลลาเจนชนิดที่ 2 เป็นเส้นใยที่หลวมกว่า พบมากในกระดูกอ่อนและข้อต่อ
  • คอลลาเจนชนิดที่ 3 พบมากในกล้ามเนื้อ อวัยวะภายใน และหลอดเลือดแดง

ประโยชน์ของคอลลาเจนต่อสุขภาพผิวหนัง

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าคอลลาเจนมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างสุขภาพผิว แต่การที่ร่างกายสร้างคอลลาเจนได้น้อยลง และคอลลาเจนเหล่านั้นเสื่อมสภาพหรือสูญเสียจากหลาย ๆ ปัจจัย อาทิ อายุที่มากขึ้น พักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด ได้รับรังสี UV รับประทานน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตที่ผ่านการขัดสีมากเกินไป หรือสูบบุหรี่ อาจเป็นเหตุให้เกิดปัญหาผิวตามมาในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นริ้วรอยบนใบหน้า ผิวหนังหย่อนคล้อย เหี่ยวย่น หรือผิวแห้ง ขาดความชุ่มชื้น

โดยมีการวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาประโยชน์ของคอลลาเจนสายสั้น (Hydrolyzed Collagen) ซึ่งเป็นคอลลาเจนที่ผ่านกระบวนการทำให้มีขนาดเล็กลงและดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายกว่าคอลลาเจนสายยาวพบว่า คอลลาเจนสายสั้นอาจช่วยซ่อมแซม ฟื้นฟู และชะลอผิวหนังที่เสื่อมสภาพได้

นอกจากนั้น ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นที่ศึกษาในผู้ทดลอง 2 กลุ่ม กลุ่มละ 36 คน โดยให้กลุ่มแรกรับประทานอาหารเสริมที่มีส่วนผสมของคอลลาเจนต่อเนื่องกัน 12 สัปดาห์เปรียบเทียบกับอีกกลุ่มหนึ่ง โดยผลพบว่าสุขภาพผิวหนังของกลุ่มที่รับประทานคอลลาเจนติดต่อกันมีความชุ่มชื้น ยืดหยุ่น นุ่มลื่น และกระชับมากกว่าอีกกลุ่ม อย่างไรก็ตาม งานวิจัยข้างต้นทำในกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กและเวลาค่อนข้างสั้น จึงควรรอการศึกษาประโยชน์ของคอลลาเจนต่อผิวหนังในระยะยาวเพิ่มเติม

เสริมคอลลาเจนให้ผิวได้อย่างไร

แม้ว่าคอลลาเจนที่ลดลงจากอายุที่มากขึ้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแก้ไขได้ แต่เราอาจลดการสูญเสียหรือเสื่อมสภาพของคอลลาเจนจากสภาพแวดล้อมได้โดยการปรับพฤติกรรมบางอย่าง เช่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียด สวมเสื้อแขนยาวหรือทาครีมกันแดดอยู่เสมอเมื่อต้องออกไปกลางแจ้ง รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ให้พอเหมาะ ดื่มน้ำให้มาก และงดสูบบุหรี่ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังสามารถเพิ่มปริมาณคอลลาเจนภายในร่างกายได้ด้วยการรับประทานอาหารที่จำเป็นต่อการสร้างคอลลาเจน โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ไข่ ผลิตภัณฑ์นม คะน้า ปวยเล้ง บล็อคโคลี่ ถั่ว ปลาแซลมอน ปลาทู หรือสาหร่ายทะเล แต่หากใครกังวลว่าตัวเองจะได้รับคอลลาเจนไม่เพียงพอก็สามารถรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมคอลลาเจนได้เช่นกัน

โดยผลิตภัณฑ์อาหารเสริมคอลลาเจนบางยี่ห้อประกอบจะมีส่วนผสมและสารสกัดหลายชนิดที่เป็นวัตถุดิบชั้นดีในการสร้างคอลลาเจน เช่น คอลลาเจนเปปไทด์จากถั่วเหลืองที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ปลาทะเลน้ำลึกซึ่งมีกรดอะมิโนที่ใช้ในการสร้างคอลลาเจนอย่างไกลซีน (Glycine) และโพรลีน (Proline) และมีคุณสมบัติช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นไว้ในผิวหนัง รวมไปถึงหนังหมู หนังวัว กระดูกวัว และสารสกัดจากดอกเก๊กฮวย จึงเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาเพียงพอในการดูแลตนเองหรือเลือกรับประทานอาหาร

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคควรรับประทานผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของคอลลาเจนในปริมาณพอเหมาะหรือประมาณ 5–7 กรัมต่อวัน ไม่ควรเกิน 10 กรัมต่อวัน เพื่อลดความเสี่ยงของผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ และควรเลือกผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่น่าเชื่อถือ มีคุณภาพ และผ่านมาตรฐานรับรองความปลอดภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนเสมอ

ผู้บริโภคที่สนใจจะรับประทานโดยหวังผลทางด้านนี้ควรอ่านฉลากบรรจุภัณฑ์ให้ถี่ถ้วน และปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและความเสี่ยงของคอลลาเจนก่อนการรับประทาน โดยเฉพาะผู้ที่แพ้อาหารบางชนิด ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และผู้ให้นมบุตร หากพบความผิดปกติใด ๆ หลังการรับประทานอาหารเสริมคอลลาเจนควรไปพบแพทย์ทันที

บทความแนะนำ : โรคไข้หูดับ ภัยจากเนื้อหมูติดเชื้อแบคทีเรีย ที่อันตรายถึงชีวิต